ศูนย์และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ของ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศูนย์ศรีพัฒน์

ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งในคราวประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 3/2539 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2539 ในนามศูนย์บริการสุขภาพพิเศษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2540 เป็นต้นมา และเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2540 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถานบริการสุขภาพพิเศษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2551 เป็นต้นมา ศูนย์ศรีพัฒน์ฯเป็นหน่วยงานหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้บริการทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในโดยคณาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคทุกสาขาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยเพื่อประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุดในการวินิจฉัยโรครวมทั้งบริการอันอบอุ่นประทับใจ ที่มุ่งเน้นคุณภาพของการบริการที่ก่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ

ศูนย์โรคสมองภาคเหนือ

เนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วยกตัวอย่าง เช่น ในแง่ของการวินิจฉัยโรคลมชัก มีการนำเอา Digital Technology มาประยุกต์ใช้กับเครื่องตรวจคลื่นสมอง และเครื่องตรวจการนอนหลับแบบเดิม พัฒนาเป็นระบบ Digital EEG และ Digital Sleep ทำให้สามารถเก็บข้อมูลได้ละเอียดมากขึ้น และให้การวินิจฉัยได้รวดเร็ว โดยการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาประยุกต์เพื่อหาความผิดปกติของคลื่นสมอง ตัวอย่างอื่นๆที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีของการตรวจวินิจฉัย เช่น การตรวจพิเศษทางพยาธิวิทยาโดยใช้การย้อมสีพิเศษด้วยเอนไซม์ และการตรวจโดยเครื่องจุลทรรศน์อิเลคตรอน ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคทางเส้นประสาทและกล้ามเนื้อได้ดีกว่าการย้อมสีแบบเก่านอกจากนี้เทคโนโลยีการรักษาโรคก็ได้เปลี่ยนไปอย่างมากมาย เช่น การฉีดยา Botulinum toxin ในผู้ป่วยที่มีโรคคอบิดหรือคอเอียงซึ่งได้ผลดีมากกว่าการรักษาด้วยการให้ยากิน ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้กลับไปใช้ชีวิตได้เกือบเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงมีเฉพาะผู้เชี่ยวชาญจึงจะสามารถทำให้การรักษาได้ในปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้แพทย์เฉพาะทางหลายสาขาร่วมกันรักษาผู้ป่วยโรคใดโรคหนึ่ง อันก่อให้เกิดการรักษาแบบสหสาขา ศูนย์โรคสมองภาคเหนือ จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อให้เป็นศูนย์กลางของแพทย์เฉพาะทาง 9 สาขาด้วยกัน คือ ประสาทแพทย์, ศัลยแพทย์ระบบประสาท, กุมารแพทย์ระบบประสาทแพทย์ทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู,จิตแพทย์, รังสีแพทย์, จักษุแพทย์, แพทย์ทางโสต ศอ นาสิก และพยาธิแพทย์ นอกจากนี้ ศูนย์โรคสมองทางภาคเหนือได้ก่อกำเนิดขึ้นมาเพื่อให้การบริการแก่ผู้ป่วยในจังหวัดทางภาคเหนือเพื่อให้ผู้ป่วยมิต้องลำบากในการเดินทางไปรักษาที่กรุงเทพมหานคร

ศูนย์ทะเบียนมะเร็ง

หน่วยทะเบียนผู้ป่วยโรคมะเร็งได้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 โดยความริเริ่มของศาสตราจารย์นายแพทย์ โอกาส พลางกูร,ศาสตราจารย์นายแพทย์ธันยโสภาคย์ เกษมสันต์ และ Dr.Robert A. Wise เป็นผู้ดำเนินงานและเก็บสถิติให้ หน่วยงานนี้อยู่ในภาควิชาศัลยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2508 ได้รับ นางวิมล สิมารักษ์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพยาบาลประจำหน่วยฯ และมี นางแน่งนิตย์ สถาปนกุล หัวหน้าพยาบาลประจำภาควิชารังสีวิทยา เป็นผู้เก็บรวบรวมสถิติผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2522 นางวิมล สิมารักษ์ ลาออก และนาง อรทัย คุณประดิษฐ์ มาดำเนินงานให้เกี่ยวกับการเก็บรวบรวมสถิติผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมด จนถึงปี พ.ศ. 2506 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 ถึง ปี พ.ศ. 2524 โครงการโรคมะเร็ง มีบุคลากรจำนวน 1 คน ในปี พ.ศ. 2525 เริ่มมีบุคลากรเพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบันมีจำนวน 8 คน ประธานคณะกรรมการฯ ซึ่งเดิม ได้แต่งตั้งศาสตราจารย์นายแพทย์ โอกาส พลางกูร เป็นประธาน และแพทย์หญิงนิมิต มาร์ติน เป็นเลขานุการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 เป็นต้นมา ซึ่งคณะกรรมการดำเนินงานผู้ป่วยโรคมะเร็ง มีการแต่งตั้งทุก 2 ปี และเปลี่ยนแปลงไปทุก 2 ปี แต่คณะกรรมการที่ดำรงมาตลอดระยะเวลา 14 ปี มี 3 คน ดังรายนามต่อไปนี้ 1. ศาสตราจารย์นายแพทย์ วิทย์ มีนะกนิษฐ์ 2. ศาสตราจารย์นายแพทย์ สนาน สิมารักษ์ 3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิง นิมิต มาร์ติน โดยมีการดำเนินงานตามระยะเวลา ดังนี้

  • พ.ศ. 2524 ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิง นิมิต มาร์ติน ได้รับแต่งตั้งเป็น - ประธานกรรมการโครงการโรคมะเร็ง
  • พ.ศ. 2540 ศาสตราจารย์นายแพทย์ วิชาญ หล่อวิทยา - ประธานกรรมการโครงการโรคมะเร็ง
  • พ.ศ. 2545 ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิง ยุพา สุมิตสวรรค์ - ประธานคณะกรรมการดำเนินงานเครือข่ายมะเร็ง
  • พ.ศ. 2550 ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ ทรงพล ศรีสุโข - หัวหน้าศูนย์ทะเบียนมะเร็ง จน ถึง ปัจจุบัน
  • 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 โครงการหน่วยทะเบียนมะเร็ง ได้เข้าเป็นสมาชิกของ International Association of Cancer Registries ประเภท Voting Membership
  • 16 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ประกาศคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปลี่ยนชื่อ “ โครงการมะเร็ง ” เป็น “ โครงการหน่วยทะเบียนมะเร็ง ” โดยภาษาอังกฤษที่ใช้คือ “ Chiangmai Cancer Registry ” ชื่อย่อคือ “ CMR ” เพื่อให้สอดคล้องกับภาระงานที่ปฏิบัติ
  • 29 มิถุนายน พ.ศ. 2550 เปลี่ยนชื่อจาก “โครงการหน่วยทะเบียนมะเร็ง” เป็น “ศูนย์ทะเบียนมะเร็ง” โดยมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานสังกัดโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่มีหัวหน้าศูนย์ทะเบียนมะเร็งเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานภายใต้นโยบายของคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการตติยภูมิด้านโรคมะเร็งแต่งตั้งโดยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศูนย์เลสิก

ภาวะสายตาผิดปกติถือเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในประชากร ในคนปกติจะพบสายตาผิดปกติได้กว่า 20 % ของประชากรในยุคปัจจุบัน โดยแนวทางหลักในการแก้ไขสายตาผิดปกติ ได้แก่ การสวมแว่นสายตา หรือคอนแทคเลนส์ อย่างไรก็ตามในบางกรณีการแก้ไขโดยวิธีดังกล่าว เช่น แว่นสายตาอาจก่อให้เกิดความไม่สะดวกต่อกิจกรรมหรือการประกอบอาชีพบางอย่าง และการใช้คอนแทคเลนส์ไม่ถูกวิธีหรือดูแลไม่เหมาะสม อาจนำไปสู่ผลเสียต่อดวงตาได้ทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสายตาของประชาชนในภาคเหนือ เพื่อให้เป็นทางเลือกแก่ประชาชนในการแก้ไขสายตาให้มีคุณภาพการมองเห็น และคุณภาพชีวิตที่ดี จึงมีความพยายามจะจัดตั้งศูนย์รักษาสายตาด้วยวิธีการผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์มาหลายครั้ง ตั้งแต่การจัดตั้งศูนย์ศรีพัฒน์ผ่านความพยายามของผู้บริหารร่วมกับความต้องการของภาควิชามาหลายสมัยจนกระทั่งในสมัยที่ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ นิเวศน์ นันทจิต ดำรงตำแหน่งคณบดี คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับงบประมาณในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ขึ้นในช่วงที่มีการประชุมสัญจรของคณะรัฐมนตรี หลังจากนั้นได้งบไทยเข้มแข็งอีกครั้งจึงได้เครื่องมือเอกไซเมอร์เลเซอร์สำหรับแก้ไขสายตา และเครื่องแยกชั้นกระจกตาด้วยแสงเลเซอร์ และได้บรรจุให้มีศูนย์รักษาสายตาด้วยแสงเลเซอร์ไว้เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ความเป็นเลิศ ในช่วงก่อตั้งศูนย์เลสิคได้ดำเนินการโดยผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศขณะนั้น (รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล) ได้จัดตั้งศูนย์เลสิคจนพร้อมที่จะดำเนินการได้และสามารถผ่าตัดผู้ป่วยเลสิค ได้ตั้งแต่เดือน มกราคม พ.ศ. 2556 ด้วยเหตุนี้ทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ประชาชนในภาคเหนือได้ประโยชน์จากโครงการนี้มากที่สุด และได้พิจารณาทั้งด้านคุณภาพในการรักษาเป็นหลักและมีราคาที่เหมาะสม โดยคุณภาพของเครื่องเลเซอร์ที่ทางศูนย์เลสิคใช้ในการรักษาเป็นเครื่องที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน ในด้านราคาแม้จะเป็นการได้งบประมาณแผ่นดินจากภาษีของประชาชน แต่เราก็จำเป็นที่จะต้องเตรียมเงินไว้สำหรับการซื้อเครื่องที่ใหม่ขึ้นในอนาคต แต่ก็พิจารณาให้เหมาะสมโดยมีราคาประมาณครึ่งหนึ่งของภาคเอกชน สำหรับด้านนโยบาย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ วัฒนา นาวาเจริญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มอบนโยบายให้ศูนย์เลสิคแห่งนี้เป็นศูนย์ที่สร้างประโยชน์แก่นักศึกษา และประชาชน ตลอดจนสามารถพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ และการวิจัยด้านสายตาและกระจกตาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้นแบบของศูนย์ความเป็นเลิศอื่นๆที่จะเกิดขึ้นในอาคารแห่งนี้ และสามารถสนองตอบนโยบายความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้[3]

ศูนย์สร้างเสริมสุขภาพ

เป็นศูนย์ประสานงานและเผยแพร่ความรู้ทางสุขภาพ ตลอดจนให้บริการสุขศึกษาและสร้างเสริมสุขภาพแก่ ผู้ป่วย ญาติ ประชาชนทั่วไปและบุคลากร อย่างมีคุณภาพ โดยมีขอบเขตการให้บริการ ดังนี้

  • ให้บริการสุขศึกษาและส่งเสริมสุขภาพแก่ ผู้ป่วย ญาติ ประชาชนทั่วไป
  • ให้บริการดูแลสุขภาพบุคลากรในองค์กร
  • ให้บริการดูแลสุขภาพภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า[4]

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://medic.med.cmu.ac.th/ http://suandok.med.cmu.ac.th/main/index.php http://www.med.cmu.ac.th http://www.med.cmu.ac.th/HOME/admin/current/ http://www.med.cmu.ac.th/dept/anatomy/ http://www.med.cmu.ac.th/dept/anes/ http://www.med.cmu.ac.th/dept/biochem/webdept/ http://www.med.cmu.ac.th/dept/commed/ http://www.med.cmu.ac.th/dept/ent/ http://www.med.cmu.ac.th/dept/eye/